การใช้ยาในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากการใช้ยา และเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายเนื่องจากผู้สูงอายุมีโรคร่วมหลายอย่าง และมีโอกาสได้รับยาหลายชนิดในเวลาเดียวกัน จากความชราทำให้การกำจัดยาออกจากร่างกาย และการดูดซึมยาลดลง การกระจายตัวของยาไม่ค่อยดี อาจพบปริมาณยาที่ค้างในร่างกาย และพบว่าการกำจัดยาทางไตทำได้ลดลงอีกด้วย

แนะนำผู้เชี่ยวชาญ

เภสัชกรหญิง กนิษฐา ช้างเสวก

เภสัชกรหญิง กนิษฐา ช้างเสวก

หลังจากที่พบแพทย์ และได้ยามารับประทาน ผู้ดูแลจะจัดยาให้เพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุสามารถใช้ยาได้อย่างถูกต้อง โดยสิ่งที่สำคัญในการเริ่มใช้ยา คือ การอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างต้อง ตรงโรค ถูกขนาด ถูกวิธี และตรงเวลา ควรตรวจดูวันหมดอายุของยา นอกจากนี้ ควรรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอพร้อมติดตามผลการรักษากับแพทย์ ไม่ควรนำตัวอย่างยาเดิมไปซื้อมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาอยู่ ณ ปัจจุบัน ในกรณีที่มีอาการเจ็บป่วยหลายโรคพร้อมกัน และได้รับยาในแต่ละโรคจากแพทย์หลายๆท่าน ผู้ป่วยควรนำยาทั้งหมดไม่ว่าจะได้รับจากที่ใดมาให้แพทย์ หรือเภสัชกรตรวจเช็คเป็นระยะเพื่อป้องกันการรับประทานยาที่ซ้ำซ้อน และเกินขนาดจนส่งผลเสียต่อร่างกาย

กลุ่มยาที่ผู้สูงอายุควรระมัดระวังการใช้เป็นพิเศษ

ผู้สูงอายุหลายท่านมักมีอาการนอนไม่หลับ และมีความวิตกกังวลในหลายด้าน โดยเฉถาะปัญหาความเป็นอยู่ของลูกหลานที่ส่งผลให้หลายๆ ท่านหันมาใช่ยานอนหลับ ยาคลายเครียด ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องระมัดระวัง เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้มได้ ซึ่งกลุ่มยาเหล่านี้มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการ ง่วงซึม สับสน เวียนศีรษะได้ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของวิตามินอาหารเสริมต่างๆ ที่ลูกหลานหวังดีซื้อหามาให้รับประทานเพื่อหวังให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่าวิตามินบางตัว หรือ สมุนไพร อาหารเสริมบางชนิด ไม่ได้เหมาะกับผู้สูงอายุทุกราย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต เพราะอาจทำให้แร่ธาตุในร่างกายผิดปกติหรือการทำงานของไตแย่ลงได้

หากลืมรับประทานยา

โดยทั่วไปหากลืมรับประทานยา จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เนื่องจากยาบางชนิดให้รับประทานทันทีที่นึกได้ ยาบางชนิดอาจต้องรอรับประทานมื้อถัดไป เพื่อป้องการการลืมรับประทานยาของผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจแบ่งจัดเช็ตยา กล่องใส่ยา สำหรับมื้อ เช้า กลางวัน ก่อนนอน หรือก่อนหรือหลังอาหารไว้ได้ แต่ไม่แนะนำให้เตรียมยาล่วงหน้าครั้งละมากๆ หากเป็นยาบรรจุแผง แนะนำให้ตัดแผงยาตามเม็ดและเอาเม็ดยาออกจากแผงเมื่อจะรับประทานเท่านั้น เนื่องจากยาบางชนิดอาจไวต่อแสงหรือความชื้นทำให้เสื่อมสภาพได้ง่าย

อย่างไรก็ตามแนะนำว่ายาทุกตัวที่ผู้สูงอายุรับประทานควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อลดปัญหาผลข้างเคียงจากการใช้ยา