การให้อาหารทางสายยาง

การให้อาหารทางสายยาง

การให้อาหารทางสายยาง หมายถึง การให้อาหารเหลวผ่านทางสายยางเข้าทางจมูกลงสู่กระเพาะอาหารโดยตรง

แนะนำผู้เชี่ยวชาญ

นาวาอากาศตรี หญิง ผศ.ดร.วรานิษฐ์ โชคนิธินิรันดร์

นาวาอากาศตรี หญิง ผศ.ดร.วรานิษฐ์ โชคนิธินิรันดร์

ประวัติการศึกษา
วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2538
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น พ.ศ. 2555
ประวัติการทำงานปัจจุบัน
อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น
ผู้บริหาร โรงเรียนสุพิกาและการบริบาล
ผู้บริหาร สุพิกาเฮลท์แคร์เซอร์วิส
การทำงานช่วยเหลือด้านสังคมปัจจุบัน
ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตสายไหม ระหว่างปี พ.ศ. 2563-2566

จุดประสงค์เพื่อ

  1. ให้อาหารและน้ำแก่ผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการรับประทานอาหารทางปากไม่ได้หรือได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แต่การทำงานของระบบทางเดินอาหารยังปกติ
  2. ป้องกันและบำบัดภาวะโรคขาดอาหารในผู้สูงอายุที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

สูตรอาหารทางสายยาง

การให้อาหารเหลวทางสายยาง แพทย์จะเป็นผู้กำหนดปริมาณอาหาร พลังงาน จำนวนมื้อ ตามน้ำหนักของผู้สูงอายุหรือเป็นอาหารเฉพาะโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคไต จะต้องมีการจำกัดอาหารบางพวก เช่น ลดปริมาณน้ำตาล น้ำมัน ผักบางชนิด อาหารปั่นผสม ( Blenderized Diet ) โดยใช้อาหารต่างๆตามสูตรต้มรวมกันให้สุกแล้วนำไปปั่นด้วยเครื่องปั่นไฟฟ้าให้ละเอียด กลองด้วยกรวยตาข่ายเอากากออก เติมน้ำสะอาดลงไป 1,000 ซีซี แบ่งให้อาหาร 4-5 มื้อต่อวัน อาหารที่ยังไม่ได้ใช้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและการเจริญของเชื้อโรค

ก่อนนำอาหารให้แก่ผู้สูงอายุ ควรอุ่นให้เท่ากับอุณภูมิห้องหรืออุณภูมิของร่างกาย อาหารร้อนหรือเย็นจัดเกินไปทำให้ไข่และนมจับตัวเป็นก้อนและยังระคายเคืองเยื่อบุทางเดินอาหาร อาหารที่เย็นจัดทำให้หลอดเลือดหดตัว ลดการหลั่งของน้ำย่อย จะทำให้อาหารตกค้างย่อยไม่ได้ ทำให้มีอาหารท้องอืด จะให้อาหารไม่ได้ตรงตามเวลา

วิธีการให้อาหารทางสายยาง

  1. เตรียมของเครื่องใช้ในการให้อาหารทางสายยาง อาหารเหลวที่เตรียมให้ผู้ป่วย รวมทั้งยาของผู้ป่วยที่มีให้หลังอาหารให้พร้อม(ตามวิธีการเตรียมของเครื่องใช้ผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยาง)
  2. จัดท่านอนให้ผู้ป่วยศีรษะอยู่สูงอย่างน้อย 45 องศา ในรายที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวควรให้หนุนหมอน ตั้งแต่หลังจนถึงศีรษะโดยใช้หมอน 2 ใบใหญ่หรือจัดให้ผู้ป่วยนั่งพิงพนักเตียงหรือให้นั่งเก้าอี้
  3. ผู้ที่จะให้อาหารต้องล้างมือให้สะอาดตามวิธีการล้างมือที่ถูกวิธี
  4. ในผู้ป่วยที่เจาะคอมีท่อหายใจ ให้ดูดเสมหะในหลอดลมคอก่อนเพื่อป้องกันผู้ป่วยไอ จากการมีเสมหะมาก ขณะให้อาหารทางสายยาง ป้องกันภาวะแทรกซ้อน ปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร
  5. ล้างมืออย่างถูกวิธีภายหลังดูดเสมหะให้ผู้ป่วย
  6. ดึงจุกที่ปิดหัวต่อปลายสายให้อาหารออก ขณะเดียวกันใช้นิ้ว พับสายคีบเอาไว้ เพื่อป้องกันลมเข้ากระเพาะอาหารผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยท้องอืดได้
  7. ใช้สำลีชุบน้ำต้มสุก เช็ดบริเวณจุกให้อาหารทางสายยาง
  8. เอากระบอกให้อาหาร พร้อมลูกสูบต่อกับหัวต่อและปล่อยนิ้วที่คีบสายออก ทำการทดสอบดูว่า ปลายสายยางให้อาหาร ยังอยู่ในกระเพาะอาหารหรือไม่โดย…

ทดสอบก่อนให้อาหาร
  • ใช้กระบอกให้อาหารดูดอาหารหรือน้ำออกจากพระเพาะ ถ้ามีมากเกิน 50 ซีซี ให้ดันอาหาร น้ำกลับคืนไปอย่างช้าๆ และเลื่อนเวลาออกไปครั้งละ 1 ชั่วโมง แล้วมาทดสอบดูใหม่ ถ้ามีไม่เกิน 50 ซีซี ให้ดันอาหารน้ำกลับคืนไปอย่างช้าๆ และให้อาหารได้
  • ถ้าดูดออกมาแล้ว มีอาหารตามขึ้นมาเป็นน้ำใสๆ ดูดออกมาประมาณ 20 – 30 ซีซี ให้ดันอาหารกลับคืนช้าๆก็สามารถให้อาหารได้เลย
วิธีให้อาหาร
  • ถ้าให้อาหารโดยใส่ถุงอาหารต่อสายยาง ต้องใช้สำลีชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดปลายสายยางก่อนทุกครั้ง ปรับอัตราการหยดช้าๆ
  • ถ้าใช้กระบอกให้อาหาร พับสายยาง เอาลูกสูบออกจากกระบอกแล้วต่อกระบอกเข้ากับสายให้อาหารใหม่
  • เทอาหารใส่กระบอกครั้งละประมาณ 50 ซีซี ยกกระบอกให้สูงกว่าผู้ป่วยประมาณ 1 ฟุต ปล่อยให้อาหารไหลตามสายช้าๆ อย่าให้อาหารไหลเร็ว ถ้าเร็วมากต้องลดกระบอกให้ต่ำลง เพราะการให้อาหารเร็วมากเกินไป จะทำให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเดิน
  • เติมอาหารใส่กระบอกเพิ่มอย่าให้อาหารในกระบอกลดระดับลงจนมีอากาศในสาย เพราะอากาศจะทำให้ผู้ป่วยท้องอืดได้
  • เมื่ออาหารกระบอกสุดท้ายเกือบหมดให้เติมน้ำและยาหลังอาหารที่เตรียมไว้ เติมน้ำ ตามอีกครั้ง จนยาไม่ติดอยู่ในสายยาง และไม่ควรมีน้ำเหลือค้างอยู่ในสาย
  • พับสาย ปลดกระบอกให้อาหารออก เช็ดหัวต่อด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกปิดจุกหัวต่อให้เรียบร้อย
  • ให้ผู้ป่วยนอนในท่าศีรษะสูงหรือนั่งพักหลังให้อาหารต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง
  • ในรายที่ใช้ถุงใส่อาหาร เมื่ออาหารหมดถอดสายออกจำเป็นต้องใช้กระบอกให้อาหารให้ยาตามเช่นเดียวกับการใช้กระบอกให้อาหาร

ผลเสียจากการให้อาหารทางสายยาง

อาการท้องเดิน อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหารไม่สะอาด เก็บอาหารไม่ได้อุณหภูมิ หรือห้อยถุงอาหารสูงเกินไป ทำให้อาหารไหลเร็ว หรืออาหารมีส่วนผสมของนม ทำให้ระบบการย่อยไม่ดี อาหารปั่นที่มีความหนืดเกินไปจะทำให้มีสารอาหารตกค้างตามสายยาง มีการดึงน้ำออกมาอยู่ในลำไส้มาก

ผลดีที่ให้อาหารทางสายยาง

ผู้สูงอายุได้อาหารครบถ้วนพร้อมคุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ ได้จำนวนแครอรี่เพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญอาหารเฉพาะโรค จะสามารถควบคุมภาวะโรคที่มีผลจากอาหารได้เป็นอย่างดี เช่น เบาหวานและไต